คำนำ

เพื่อน ๆ ที่รัก...เราชอบอ่านคอลัมน์ "คัมภีร์จากแผ่นดิน" ของบาราย ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐประจำวันอาทิตย์มาก ท่านจะเขียนเล่าประวัติศาสตร์ที่เราไม่เคยอ่านหรือเรียนมาก่อน เราชอบคอลัมน์ของท่านมาก อ่านแล้วได้ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ดีมากเลย ซึ่งไม่มีในหนังสือเีีรียนของพวกเราเลย เราจึงตัดคอลัมน์นี้ไว้ และไม่อยากให้สูญหาย และอยากจะเผยแพร่ให้เพื่อน ๆ ได้อ่าน จึงได้สร้างไว้ในบล๊อกของ google ซึ่งเป็นบล๊อกที่ให้พื้นที่ฟรี และจะทำไปเรื่อย ๆ เพื่อรักษาประวัติศาสตร์อันดีไว้จนกว่าโลกของไซเบอร์จะล่มสลาย...เชิญเพื่อน ๆ อ่านได้เลยค่ะ บล๊อกหนึ่งจะมี 20 เรื่อง...

ตำนานการจ้ำจี้

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน อธิบายคำว่า จ้ำจี้ ไว้ว่า การเล่นชนิดหนึ่งของเด็ก และรูปแบบของการเล่นชนิดนี้ ถูกนำไปใช้ว่า จ้ำจี้จ้ำไช หมายความถึงอาการที่พร่ำพูดพร่ำสอน

ศ.พระยาอนุมานราชธน เล่าเรื่องการ "จ้ำจี้" ไว้ในงานนิพนธ์ชุดสมบูรณ์ หมวดเบ็ดเตล็ด-ความรู้ทั่วไป เล่มที่ 6 เรื่องสารานุกรมของเสฐียรโกเศศ  ว่า  การเล่นจ้ำจี้ เริ่มต้นด้วยการที่เด็กหลายคน  นั่งล้อมวงเอามือแบทั้งสองข้างของแต่ละคน แผ่ทาบลงพื้นข้างหน้า

เด็กคนหนึ่งในวง  ซึ่งไม่ได้แผ่มือวางเหมือนคนอื่น เป็นผู้ดำเนินการเล่น

เด็กคนนั้นจะเอามือแจะที่หลังมือเด็กอื่นๆในวง จะเริ่มต้นไปทางซ้ายหรือไปทางขวาก่อนก็ได้ ปากก็ท่องร้องบทจ้ำจี้

บทจ้ำจี้เหล่านี้ที่เป็นอย่างสั้นก็มี อย่างยาวก็มี สุดแล้วแต่เด็กผู้จี้ จะเลือกและ จำได้ ข้อความในบทจ้ำจี้ แปลได้ความบ้าง ไม่ได้ความบ้าง ปนกันยุ่ง

ถ้าคำร้องสุดท้ายของบทจ้ำจี้ตกที่มือผู้ถูกจี้ เด็กเจ้าของมือก็ต้องชักมือออก เด็กผู้ดำเนินการก็ขึ้นบทจ้ำจี้นั้นใหม่ เวียนต่อไปหลายรอบ หลายครั้ง จนกว่ามือเหล่านั้นจะถูกชักออกไป

จนเหลือสุดท้ายแต่มือเดียว

เด็กเจ้าของมือ  ก็ตกอยู่ในฐานะโหล่ผี ต้องรับเคราะห์ก้มหลังโก้งโค้งอยู่กลางวง ให้ เด็กอื่นรุมกัน "กินโต๊ะ"

การกินโต๊ะ ก็คือเด็กๆต่างก็เอามือไปขยุ้มที่บนหลัง ปากก็พูดว่า "กินตับกินปอด กินไส้กินพุง" แล้วก็ทำเสียงจุบจับไปตามเรื่อง ดูประหนึ่งว่าเคี้ยวกินอย่างเอร็ดอร่อย ทำกันอย่างนี้สักครู่ จนรู้สึกว่าอิ่มหนำสำราญแล้ว ก็ต้องเช็ดมือ คือเอามือไปยีหัวเด็กผู้ซึ่งเล่นบท "โหล่ผี" แล้วก็ถือว่า การเล่นจ้ำจี้จบลงระยะหนึ่ง

ศ.พระยาอนุมานราชธนบอกว่า การเล่นจ้ำจี้ทำนองนี้ไม่ใช่มีแต่ไทย  ชาวชนอื่นๆ เช่น จีน ญี่ปุ่น อินเดีย และชาวตะวันตก ก็เล่นเหมือนกัน

ว่าตามแนววิทยาว่าด้วยคติชาวบ้าน การเล่นจ้ำจี้ น่าจะเป็นเรื่องของผู้ใหญ่เล่นกันมาก่อน ความเชื่อถือของมนุษย์สมัยดึกดำบรรพ์ มนุษย์ยังมีสภาพไม่ห่างไกลกับสัตว์สักกี่มาก น้อย เมื่อมนุษย์จับผู้อื่นมาได้ ก็ฆ่าบูชายัญ เป็นเครื่องพลีสังเวยผีสางเทวดาหรือเทพเจ้า ที่เข้าใจกันเองว่าโปรดเนื้อมนุษย์

เมื่อสมมติว่าเทพเจ้าเสวยอิ่มแล้ว สิ่งที่บูชายัญยังอยู่บริบูรณ์ ไม่มีแหว่งหรือบกพร่อง ก็เข้าใจเอาว่า เทพเจ้าเสวยแต่ส่วนที่เป็นสาระไปแล้ว  เหลือสิ่งที่เป็นกาก มนุษย์ก็เอามากินกันต่อ  เหมือนคนจีนไหว้เจ้า

เด็กเล่นจ้ำจี้ สันนิษฐานว่าเด็กๆจะเอา อย่างจากผู้ใหญ่ เมื่อต้องการฆ่าศัตรูที่จะจับมาบูชายัญ ไม่ทราบว่าจะเลือกฆ่าคนไหนก่อน จึงจะถูกใจเทพเจ้า ก็ต้องใช้วิธีเสี่ยงทาย

การที่เด็กที่กินโต๊ะ ถูกเรียกว่า "โหล่ผี" คำนี้เป็นคำไม่เฉพาะเล่นจ้ำจี้เท่านั้น แม้การเล่นอย่างอื่น ถ้าโหล่ ก็เรียกว่า "โหล่ผี" เหมือนกัน คำบอกอยู่ในตัวว่าคนอยู่โหล่ จะต้องตายไปเป็นผี ถูกเอาตัวไปบูชายัญ ไม่อย่างนี้จะต้องมีคำว่า "ผี" ต่อท้ายไว้ทำไม

เหตุที่บทจ้ำจี้  เป็นภาษาบ้างไม่เป็นภาษาบ้าง ก็เนื่องจากบทในทีแรก เป็นถ้อยคำที่นึกอะไรได้ก็พูดพุ่งๆไป  เพราะต้องการใช้คำพูดเป็นคะแนนนับ จะเป็นภาษาไม่เป็นภาษาไม่สำคัญ  เด็กจำมาเอามาถูกบ้างผิดบ้าง ตามเรื่องของเด็ก เหตุนี้จึงมีบทจ้ำจี้อยู่หลายบท ไม่จำเป็นต้องมีถ้อยคำอย่างเดิมเสมอไป

อาจมีการปรับปรุงแก้ไขกันเรื่อยมา และที่แต่งขึ้นใหม่ก็คงมี จะทราบว่าเก่าใหม่ ก็ต้องพิจารณาถ้อยคำที่กล่าวไว้ในบทจ้ำจี้

เท่าที่สอบถาม พบเหตุที่บทจ้ำจี้แตกต่างกัน ก็เพราะสิ่งทั้งหลายย่อมมีอายุขัยของมัน ถ้าหมดอายุแล้วก็ต้องตาย บางสิ่งที่ยังไม่ หมดอายุ หรืออยู่ได้นานเกินอายุ ก็เพราะมีการเปลี่ยนแปลงเสมอๆ ให้เข้ากันได้กับสิ่งแวดล้อมใหม่ แต่การเปลี่ยนจะต้องอยู่ในขอบเขต ซึ่งเป็นบุคลิกภาพของสิ่งนั้น

ไม่เช่นนั้น ก็จะไม่เป็นสิ่งนั้นอีกต่อไป แต่จะกลายเป็นสิ่งอื่น

จึงพอสรุปได้ว่า เด็กที่รุมกันกินโต๊ะ กินตับไตไส้พุง และอะไรต่ออะไร คงสืบเนื่องมาจากคนกินเนื้อคนที่บูชายัญ อันเป็นเดนที่เทพเจ้าเสวย

ภาษาสันสกฤตเรียกเครื่องอาหารและขนมนมเนยที่สังเวยบูชาเสร็จ คนกินได้ว่า การาปราสาท ถือกันว่ากินแล้วได้บุญ กินเสร็จแล้วมือเปื้อนเปรอะอยู่ ก็เช็ดที่ผมของคนที่ถูกบูชายัญ

ศ.พระยาอนุมานราชธนปรารภว่า การเล่นจ้ำจี้ของเด็กรุ่นใหม่ จบลงตรงเช็ดมือที่ผม ไม่เคยพบเห็น แม้แต่คำว่าโหล่ผี ก็ไม่มีพูดกันให้ยินอีกแล้ว.


ที่มา : คอลัมน์ คัมภีร์จากแผ่นดิน โดย...บาราย หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น