คำนำ

เพื่อน ๆ ที่รัก...เราชอบอ่านคอลัมน์ "คัมภีร์จากแผ่นดิน" ของบาราย ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐประจำวันอาทิตย์มาก ท่านจะเขียนเล่าประวัติศาสตร์ที่เราไม่เคยอ่านหรือเรียนมาก่อน เราชอบคอลัมน์ของท่านมาก อ่านแล้วได้ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ดีมากเลย ซึ่งไม่มีในหนังสือเีีรียนของพวกเราเลย เราจึงตัดคอลัมน์นี้ไว้ และไม่อยากให้สูญหาย และอยากจะเผยแพร่ให้เพื่อน ๆ ได้อ่าน จึงได้สร้างไว้ในบล๊อกของ google ซึ่งเป็นบล๊อกที่ให้พื้นที่ฟรี และจะทำไปเรื่อย ๆ เพื่อรักษาประวัติศาสตร์อันดีไว้จนกว่าโลกของไซเบอร์จะล่มสลาย...เชิญเพื่อน ๆ อ่านได้เลยค่ะ บล๊อกหนึ่งจะมี 20 เรื่อง...

ประวัติศาสตร์ชาติลาว


ประวัติศาสตร์อาณาจักรน่านเจ้า จากมุมมองของจีน และของไทยยังไม่ตรงกัน เป็นคนเผ่าไท หรือไต ใช่หรือเปล่า แต่จากมุมมองของนักวิชา การลาว  น่านเจ้า  หรือต้าหลี่  ก็คืออาณาจักรของลาว   ไม่มีข้อสงสัยแต่ ประการใดเลย

บุนมี เทบสีเมือง ค้นคว้าและเรียบเรียงไว้ในหนังสือชื่อ ความเป็นมาของชนชาติลาว (เล่ม 1) ไผท ภูธา แปลเป็นภาษาไทย ว่า...น่านเจ้าที่คนไทยเรียกขาน คืออาณาจักรหนองแส ช่วงที่รุ่งเรืองที่สุด คือสมัยขุนเอี้ยวหล้ง หรือไชยหล้ง เป็นกษัตริย์ ระหว่าง ค.ศ. 858-877

ช่วงเวลานั้นราชวงศ์ถังของจีนกำลังเสื่อมอำนาจกองทัพขุนเอี้ยวหล้งของลาวยกไปตีดินแดนจีนหลายครั้ง ครั้งที่ตีเมืองต่างๆในเขตอ่าวตังเกี๋ย จีนพ่ายแพ้เสียกำลังพล ไปถึง 2 หมื่นคน

ชัยชนะครั้งนี้ ขุนเอี้ยวหล้งประกาศตนเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ยกฐานะเท่าเทียมกับ พระเจ้าจักรพรรดิของจีน ต่อมาก็มีสงครามกันประปราย สงครามครั้งสุดท้ายทัพหนองแสบุกโจมตีเสฉวน จีนต่อต้านไว้ได้ ทัพหนองแสต้องถอนทัพกลับ จากนั้นก็รบกันเรื่อยมา

ค.ศ.877  จักรพรรดิเอี้ยวหล้งสวรรคต พระโอรสพระนามขุนฟ้า สืบฐานะจักรพรรดิต่อ

เมื่อหนองแสเผ่าลาวเข้มแข็ง จีนอ่อนแอ จีนก็ปรับยุทธศาสตร์แทนการทำสงคราม กลับส่งทูตมาเจรจาสร้างความสัมพันธ์อันดี ถึงขนาดส่งพระธิดามาให้พระสุณิสา (สะใภ้) ขุนชุนฟ้าพระราชโอรสจักรพรรดิขุนฟ้า

พร้อมกับพระธิดา จีนได้ส่งขุนนางและผู้ติดตามมาอยู่ในอาณาจักรหนองแส (จีนเรียกว่าม่งเส) จำนวนมากมาย

ค.ศ.896 ราชวงศ์ถังของจีนล่มสลาย สะเทือนมาถึงอาณาจักรหนองแส ค.ศ.898 ขุนฟ้าสวรรคต ขุนชุนฟ้าพระราชโอรสผู้อ่อนวัยไร้อิทธิพลก็ขึ้นครองบัลลังก์ ขุนนางแตกแยกกันถึงสิบกลุ่ม แต่ละกลุ่มคุมเชิง กันและกัน หักล้างทำลายกันเอง อาณาจักรหนองแสก็อ่อนแอถึงขีดสุด

ค.ศ.903 เจ็ง ไม สือ ขุนนางผู้ใหญ่เชื้อสายจีนอาณาจักรหนองแส ชิงอำนาจจับขุนชุนฟ้าและพระโอรสวัย 8 พรรษาประหาร แล้วตั้งตัวเป็นกษัตริย์ครองอำนาจอาณาจักรหนองแส สถาปนาราชวงศ์เจ็ง ขึ้นใหม่

ต่อมาอีก 35 ปี ตวน สี หิง เชื้อสายขุนพลตวน ผู้เคยยกทัพมาทำสงครามกับจักรพรรดิ พีล่อโก๊ะ หรือขุนพรม ปฐมกษัตริย์หนองแส ก็ปฏิวัติยึดอำนาจจากราชวงศ์เจ็ง ตั้งราชวงศ์ตวน ขึ้นมาอีก ราชวงศ์นี้สืบอำนาจมั่นคงต่อเนื่องจาก ค.ศ.938 ถึง 1254 รวมเวลา 216 ปี

ค.ศ.1253 กุบไลข่าน (หลานเจงกิสข่าน) ยกทัพมองโกลบุกหนองแส ปิดล้อมหนองแส

ทุกด้าน ตวน หิง จี่ กษัตริย์หนองแส ยอมจำนนกุบไลข่าน ไม่ประหารชีวิต เมื่อตวนหิง จี่ ให้ปฏิญาณว่า จะจงรักภักดีต่อไป กุบไลข่านจึงตั้งให้เป็นมหาราชา ดูแลอาณาจักรหนองแสต่อ

ช่วงเวลานี้ หัวเมืองใหญ่ถิ่นฐานของคนลาวทางตอนใต้ ไม่ยอมรับอำนาจผู้ปกครอง ใหม่ แยกตัวออกไปเป็นนครรัฐเอกราช

ไม่ขึ้นต่ออาณาจักรหนองแส อาณาจักรหนองแสจึงเปลี่ยนชื่อเป็น "ยูนาน"

แต่ยูนานก็อยู่ไม่ปกติสุข เพราะหัวเมืองลาวหนองแสฝ่ายใต้ยังส่งกองทหารมาโจมตีอยู่เรื่อยๆ มหาราชาราชวงศ์ตวนที่กุบไลข่านตั้งรับมือไม่ไหว ในที่สุดกุบไลข่านสั่งยกเลิกแล้วตั้งกัน สือ หม่า ราชบุตรพระองค์เองขึ้นเป็นเจ้าเมืองยูนาน

นับแต่นั้น อาณาจักรหนองแสเหนือ ก็ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรจีน และชื่อหนองแสไม่ปรากฏบทบาทอยู่ในประวัติศาสตร์จีนอีกเลย

ส่วนหัวเมืองหนองแสฝ่ายใต้ที่ไม่ยอมขึ้นกับหนองแสเหนือหรือยูนาน อันมีเมือง

ชวา (เชียงทองหรือหลวงพระบาง) เมืองพวน (เชียงขวาง) เมืองโยนก (เชียงแสน) เมืองเงี้ยว (เชียงตุง) เมืองโม (มาว) นั้น ยังมีเมืองบริวารดินแดนเล็กๆหลายเมืองขึ้นตรง สืบวงศ์สกุลปกครองเมืองต่อๆกันมา

การปกครองเมืองเหล่านี้ บุนมี เทบสีเมือง เรียกว่า แบบศักดินาน้อย หรืออีกชื่อเรียกว่า ระบอบศักดินายังไม่รวมศูนย์ เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์จึงไม่ถูกบันทึกอย่างเป็นระบบ ส่วนใหญ่ใช้การจดจำ และบอกเล่าต่อๆกันมา นานวันเรื่องราวก็คลาดเคลื่อน

การเก็บข้อมูลชนชาติลาวระยะคริสต์ศตวรรษที่ 10-13 จึงมีความยุ่งยากสับสน ต้องค้นคว้าจากหลักฐานด้านโบราณวัตถุสมัยต่างๆจากหลักฐานด้านภาษา วรรณคดี ศิลปะดนตรี และอื่นๆอีกหลายอย่างมาผสมผสานกัน

อ่านเรื่องราวความเป็นมาของชนชาติลาวแล้ว ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เป็นเรื่องราวเดียวกับประวัติศาสตร์ชนชาติไทย เพราะแท้จริงแล้ว ลาวกับไทยเป็นชาติพันธุ์เดียวกัน ต่างกันที่สถานที่และชื่อที่เรียกเท่านั้นเอง.

ที่มา : คอลัมน์ คัมภีร์จากแผ่นดิน โดย...บาราย หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

1 ความคิดเห็น: