คำนำ

เพื่อน ๆ ที่รัก...เราชอบอ่านคอลัมน์ "คัมภีร์จากแผ่นดิน" ของบาราย ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐประจำวันอาทิตย์มาก ท่านจะเขียนเล่าประวัติศาสตร์ที่เราไม่เคยอ่านหรือเรียนมาก่อน เราชอบคอลัมน์ของท่านมาก อ่านแล้วได้ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ดีมากเลย ซึ่งไม่มีในหนังสือเีีรียนของพวกเราเลย เราจึงตัดคอลัมน์นี้ไว้ และไม่อยากให้สูญหาย และอยากจะเผยแพร่ให้เพื่อน ๆ ได้อ่าน จึงได้สร้างไว้ในบล๊อกของ google ซึ่งเป็นบล๊อกที่ให้พื้นที่ฟรี และจะทำไปเรื่อย ๆ เพื่อรักษาประวัติศาสตร์อันดีไว้จนกว่าโลกของไซเบอร์จะล่มสลาย...เชิญเพื่อน ๆ อ่านได้เลยค่ะ บล๊อกหนึ่งจะมี 20 เรื่อง...

พระพุทธยอดฟ้า


หากกรุงเทพฯไม่เจอปัญหาม็อบ จนทำให้การจราจรติดขัดมากเกินไป วันอาทิตย์นี้ ถ้าอยากไหว้พระ แนะนำให้ไปโบสถ์วัดพระแก้ว นอกจากได้ไหว้พระแก้วมรกต พระศักดิ์สิทธิ์สำคัญคู่บ้าน เมืองแล้ว ขอบารมีให้อยู่รอดปลอดภัยแล้ว ยังมีโอกาสได้ไหว้พระปางห้ามญาติ...สำคัญอีกสององค์

องค์แรก พระนาม พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก

องค์ที่สอง พระนาม พระพุทธเลิศหล้านภาลัย

หนังสือพระพุทธรูปสำคัญ กรมศิลปากร ให้ข้อมูลเรื่องพระพุทธยอดฟ้าไว้ว่า ลักษณะศิลปะ...ศิลปะรัตนโกสินทร์ ปางห้ามสมุทร ทรงเครื่องต้นอย่างจักรพรรดิราช...วัสดุ สำริดหุ้มด้วยทองคำ เครื่องต้นประดับด้วยเนาวรัตน์ สูง 6 ศอก

ประวัติ...เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ มีพระราชปรารภว่า ในสมัยอยุธยา สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ทรงหล่อด้วยพระศรีสรรเพชญ์ และพระเจ้าแผ่นดินองค์ต่อๆมา ทรงหล่อพระรูปสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ผู้ทรงเป็นปฐมกษัตริย์ขึ้นไว้สักการบูชา

ด้วยอาศัยปรารภเหตุทั้งสองอย่างนี้  จึงทรงมีพระราชศรัทธาสร้างพระพุทธรูปใหญ่ หุ้มด้วยทองคำ เพื่อให้เป็นพระพุทธรูปฉลองพระองค์ รัชกาลที่ 1 และรัชกาลที่ 2

เมื่อทรงปรึกษาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า เจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงผนวช จึงมีพระราชดำริว่า พระพุทธรูปควรมีความสูงในราว 6 ศอก จึงได้ทรงสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่องอย่างจักรพรรดิราช 2 องค์ 

จารึกพระนามองค์หนึ่งว่า พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงพระราชอุทิศถวายสมเด็จพระบรมอัยกาธิราช จักรพรรดินารถบพิตร

อีกองค์จารึกพระนามว่า พระพุทธเลิศหล้าสุลาลัย ทรงพระราชอุทิศถวายสมเด็จพระบรมชนกนารถธรรมิกราชบพิตร

เดิมทีในสมัยรัชกาลที่ 1 นิยมเรียกกันว่า แผ่นดินต้น สมัยรัชกาลที่ 2 เรียกกันว่าแผ่นดินกลาง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

รัชกาลที่ 3 ไม่โปรดให้เรียก รัชกาลของ พระองค์ว่า แผ่นดินปลาย จึงมีพระบรมราชโองการให้ตั้งนามแผ่นดิน ตามพระพุทธปฏิมากรทั้ง 2 พระองค์

สำหรับแผ่นดินกลาง ที่ให้ทรงใช้แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าสุลาลัยนั้น ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) โปรดให้ เปลี่ยนสร้อยพระนาม จาก "สุลาลัย" เป็น "นภาลัย"

ส่วนชื่อปางพระ ที่ยกมือทั้งสองข้าง บางคนเรียก ปางห้ามสมุทร และบางคนเรียก ปางห้ามญาติ พระธรรมโกศาจารย์ (ชอบ อนุจารีเถร) เขียนไว้ในหนังสือพระพุทธรูปปางต่างๆว่า 

ชื่อปาง มีที่มาจากพระพุทธประวัติ ตอนพระญาติฝ่ายพุทธบิดา และพระญาติฝ่ายพุทธมารดาแย่งน้ำในแม่น้ำโรหิณี เพื่อทำนา จนตั้งท่าจะทำสงครามกัน พระพุทธองค์เสด็จไปห้ามจนเลิกแล้วต่อกัน

พระธรรมโกศาจารย์ เสนอให้เรียกชื่อพระปางนี้ว่า ปางพระญาติแย่งน้ำในสมุทร แล้วยังอธิบายว่า การที่สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เลือกสร้างพระปางนี้ น่าจะมีพระประสงค์จะทรงฝากคติธรรม สำหรับเตือนพระบรมวงศานุวงศ์ ที่เสด็จเข้าไปนมัสการพระพุทธรูปในโบสถ์วัดพระแก้วเนืองๆว่า 

"อย่าทรงวิวาทแย่งสมบัติกันเลย"

พระธรรมโกศาจารย์ ให้ทัศนะถึงชื่อพระปางห้ามพระญาติแย่งน้ำในสมุทร ว่าเป็นปางเดียวกับพระพุทธรูปปางห้ามสมุทร ซึ่งควรจะเรียกว่า ปางห้ามญาติ เพราะสมเหตุสมผลมากกว่า.


ที่มา : คอลัมน์ คัมภีร์จากแผ่นดิน โดย...บาราย หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น