คำนำ

เพื่อน ๆ ที่รัก...เราชอบอ่านคอลัมน์ "คัมภีร์จากแผ่นดิน" ของบาราย ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐประจำวันอาทิตย์มาก ท่านจะเขียนเล่าประวัติศาสตร์ที่เราไม่เคยอ่านหรือเรียนมาก่อน เราชอบคอลัมน์ของท่านมาก อ่านแล้วได้ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ดีมากเลย ซึ่งไม่มีในหนังสือเีีรียนของพวกเราเลย เราจึงตัดคอลัมน์นี้ไว้ และไม่อยากให้สูญหาย และอยากจะเผยแพร่ให้เพื่อน ๆ ได้อ่าน จึงได้สร้างไว้ในบล๊อกของ google ซึ่งเป็นบล๊อกที่ให้พื้นที่ฟรี และจะทำไปเรื่อย ๆ เพื่อรักษาประวัติศาสตร์อันดีไว้จนกว่าโลกของไซเบอร์จะล่มสลาย...เชิญเพื่อน ๆ อ่านได้เลยค่ะ บล๊อกหนึ่งจะมี 20 เรื่อง...

วันอาทิตย์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

2 พระโอรส ร.4



ประชุมหนังสือเก่าภาค 1 ภาค 2 (กรมศิลปากร พิมพ์เผยแพร่ พ.ศ.2552) ม.จ.ปิยนารถ ทรงสร้างอุทิศส่วนกุศล ถวายสนองพระเดชพระคุณ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นวิศณุนารถนิภาธร เมื่อ พ.ศ.2459

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเขียนไว้ในคำนำหนังสือว่า เวลานั้น ผู้ที่รู้จักหรือทราบพระประวัติมีน้อยตัว จึงทรงตรวจหนังสือเก่า รวบรวมพระประวัติพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นวิศณุนารถนิภาธร มาเรียบเรียงไว้...ดังต่อไปนี้

ในรัชกาลที่ 2 ก่อนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงผนวชเป็นพระภิกษุ เสด็จประทับอยู่ที่พระราชวังเดิม พระองค์ทรงมีเจ้าจอมมารดา ชื่อน้อย ธิดาพระอินทรอภัย (โอรสพระเจ้ากรุงธนบุรี) ทรงมีหม่อมเจ้าชายลูกเธอ 2 พระองค์

เจ้าชายองค์ใหญ่ กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาศ ประสูติ พ.ศ.2365 องค์น้อย กรมหมื่นวิศณุนารถนิภาธร ประสูติ พ.ศ.2367 เมื่อกรมหมื่นวิศณุนารถฯ ประสูติได้เดือนเศษ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ...ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ

ทรงผนวชได้ 15 วัน พระบาทสมเด็จพระพุทธ เลิศหล้าฯ สวรรคตไปโดยมิได้เวนสิริราชสมบัติแก่พระราชวงศ์พระองค์ใด พระราชวงศานุวงศ์ ข้าราชการ ปรึกษากัน ถวายราชสมบัติแด่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ...จึงปลงพระทัยที่จะครองผนวช ทรงศึกษาพระธรรมวินัยต่อไป

ในรัชกาลที่ 3 นั้น สมเด็จพระศรีสุริเยนทรา บรมราชินี พระพันปีหลวง แห่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ทรงบำรุงเลี้ยงกรมหมื่นมเหศวรฯ และกรมหมื่นวิศณุนารถฯ ในเวลาทรงพระเยาว์ ได้ทรงนำทั้งสองพระองค์ไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ อยู่เนืองๆ

สมเด็จพระศรีสุริเยนทร์ฯ สวรรคตเมื่อ พ.ศ.2379 กรมหมื่นมเหศวรฯ พระชันษา 15 กรมหมื่นวิศณุนารถฯ พระชันษา 13 มีผู้จำได้ เมื่อกรมหมื่นมเหศวรฯ ชันษา 9 ขวบ กรมหมื่นวิศณุนารถฯชันษา 7 ขวบ ทั้งสองพระองค์เสด็จไป อยู่วัดบวรนิเวศ ในสำนักพระบาท สมเด็จพระจอมเกล้าฯ

ครั้งหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เสด็จเมืองเพชรบุรี เมื่อรถไฟพระที่นั่งผ่านเขาย้อย มีรับสั่งว่า...กรมหมื่นมเหศวรฯเคยหนีพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ มาซ่อนตัวอยู่ที่เขาย้อย ต้องขอร้องให้เสนาบดีไปช่วยติดตาม จึงได้กลับ

เหตุที่กรมหมื่นมเหศวรฯหนี...ทรงผนวชพระ มีพระราชประสงค์ให้อยู่เล่าเรียน แต่ไม่สมัครใจหนี ลาสิกขาไปอยู่เขาย้อย เมื่อได้กลับมา ก็ทรงขังไว้ใต้ (พระตำหนัก) ปั้นหยาหน่อยหนึ่งก็หายกริ้ว

ส่วนกรมหมื่นวิศณุนารถฯ...นั้น เมื่อทรงผนวช พระ ก็หนีผนวชไปอยู่กับพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ

มีเรื่องเล่าว่า พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ โปรดกรมหมื่นวิศณุนารถฯ มากกว่ากรมหมื่นมเหศวรฯ เหตุเกิดแต่เรื่องทรงหัดให้ยิงปืน กรมหมื่นวิศณุนารถฯ  ไม่กลัวปืนมา แต่กรมหมื่นมเหศวรฯ มักจะหลีกเลี่ยง

เมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ เป็นแม่ทัพออกไปรบญวน กรมหมื่นวิศณุนารถฯไปด้วย พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ เอาไว้ใกล้พระองค์ ให้บรรทมอยู่ในห้องเดียวกับพระองค์จนเสด็จฯกลับ ถึงเวลาที่จะมีหม่อมห้าม จึงเสด็จฯจากพระราชวังเดิม...มาอยู่วังเดียวกับกรมหมื่นมเหศวรฯ ซึ่งขณะนั้นติดพัน และได้หม่อมนกแก้วเป็นชายา

พ.ศ.2394 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ เสด็จผ่านพิภพ พระเจ้าลูกยาเธอทั้งสองพระองค์ มีพระยศเป็นหม่อมเจ้า ก็ได้เป็นพระองค์เจ้าตามสกุลศักดิ์ ต่อมาทรงเพิ่มสร้อยพระนาม

พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่ว่า พระองค์ เจ้านภวงศ์ วรองค์เอกอรรคมหามกุฎ ปรมุตมราโชรส

พระองค์น้อยพระราชทานนามว่า พระองค์ เจ้าสุประดิฐ วรฤทธิราชมหามกุฎ บุรุษยรัตนราชวโรรส

พ.ศ.2399 โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระเจ้า ลูกยาเธอพระองค์เจ้าสุประดิฐฯ เป็นเจ้าต่างกรม มีพระนามว่า กรมหมื่นวิศณุนารถนิภาธร รับราชการในตำแหน่งอธิบดีกรมพระคลังมหาสมบัติ กล่าวกันว่าทรงพระปรีชาเฉียบแหลม มีผู้ชอบพอนับถือมาก

น่าเสียดายที่พระชันษาไม่ยืน ประชวรสิ้น พระชนม์ เมื่อ พ.ศ.2405 พระชนมายุเพียง 38

ส่วนเจ้าชายพระองค์ใหญ่ พระองค์เจ้านภวงศ์ (กรมหมื่นมเหศวร) นั้น ได้รับกรมเมื่อ พ.ศ.2396 ไม่มีผู้บันทึกไว้ ทรงรับราชการในตำแหน่งใด และทรงสิ้นพระชนม์เมื่อใด.

ที่มา : คอลัมน์ คัมภีร์จากแผ่นดิน โดย...บาราย หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ