คำนำ

เพื่อน ๆ ที่รัก...เราชอบอ่านคอลัมน์ "คัมภีร์จากแผ่นดิน" ของบาราย ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐประจำวันอาทิตย์มาก ท่านจะเขียนเล่าประวัติศาสตร์ที่เราไม่เคยอ่านหรือเรียนมาก่อน เราชอบคอลัมน์ของท่านมาก อ่านแล้วได้ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ดีมากเลย ซึ่งไม่มีในหนังสือเีีรียนของพวกเราเลย เราจึงตัดคอลัมน์นี้ไว้ และไม่อยากให้สูญหาย และอยากจะเผยแพร่ให้เพื่อน ๆ ได้อ่าน จึงได้สร้างไว้ในบล๊อกของ google ซึ่งเป็นบล๊อกที่ให้พื้นที่ฟรี และจะทำไปเรื่อย ๆ เพื่อรักษาประวัติศาสตร์อันดีไว้จนกว่าโลกของไซเบอร์จะล่มสลาย...เชิญเพื่อน ๆ อ่านได้เลยค่ะ บล๊อกหนึ่งจะมี 20 เรื่อง...

ทุ่งศาลาแดง

บริเวณศาลาแดง เดิมทีเป็นท้องนา เป็นที่ทำนาหลวง เคยมีพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พ.ศ.2436 ช่วงเวลาเปิดเดินรถไฟสายปากน้ำขนานมากับถนน จึงมีสร้างสถานีแรกต่อจากหัวลำโพง ตัวสถานีเป็นศาลาทาหลังคาสีแดง ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่กลางทุ่ง จึงเรียกศาลาแดงกันตั้งแต่บัดนั้น

โรม บุนนาค เขียนไว้ในบันทึกแผ่นดินชุดตำนานทุ่งกลางกรุง (สำนักพิมพ์สยามบันทึก) ว่า สมัย ร.5 พ.ศ.2445 โปรดฯให้ขุดคลองขวาง และถนนขวางจากถนนเจริญกรุง ตัดกับคลองและถนนตรงทุ่งศาลาแดง ไปบรรจบกับคลองแสนแสบ ที่หน้าวังปทุมวัน จึงมีผู้คนเข้ามาอยู่อาศัยกันมากขึ้น

ชาวต่างประเทศเริ่มย้ายจากถนนเจริญกรุงมาตามถนนขวาง หรือถนนสีลม และถนนราชดำริ จนถึงทุ่งปทุมวัน ขุนนางใหญ่น้อยมากมายก็ย้ายตามมา 

สมัย ร.6 ทรงมีพระราชดำริว่า เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าหลวงได้ทรงตั้งสภาอุณาโลม หรือสภากาชาด ช่วยเหลือทหารบาดเจ็บ และบรรเทาทุกข์ผู้ประสบภัยสงคราม แต่ยังไม่เรียบร้อยสมบูรณ์ โปรดฯให้พระราชโอรส พระราชธิดา ใน ร.5 บริจาคทรัพย์ร่วมกัน สร้างโรงพยาบาลขึ้นในที่ดินส่วนพระองค์ที่ทุ่งศาลาแดง เสด็จพระราชดำเนินเปิดโรงพยาบาลแห่งนี้ เมื่อวันที่ 30 พ.ค.2457 

พระราชทานนามตามพระปรมาภิไธยสมเด็จพระบรมชนกนาถว่า โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เกิดวิกฤติเศรษฐกิจทั่วโลก ร.6 ทรงมีพระราชดำริจะกระตุ้นเศรษฐกิจไทย โดยจัดงานแสดงสินค้าระดับนานาชาติขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศ สถานที่จัดงานจะต้องมีพื้นที่กว้างขวาง รัฐบาลไม่มีเงินจะซื้อที่ดินที่ไหน 

จึงพระราชทานที่นาส่วนพระองค์ที่ทุ่งศาลาแดง ประมาณ 336 ไร่ ให้เป็นสมบัติของชาติ ใช้เป็นสถานที่จัดงาน

งานชื่อสยามรัฐพิพิธภัณฑ์ กำหนดจัดขึ้นในฤดูหนาวปี 2468 ตรงกับกำหนดเฉลิมฉลองทรงครองราชย์ครบ 15 ปี พระราชทานนามสถานที่ว่า สวนลุมพินี มีพระราชประสงค์ว่า เมื่อเสร็จงานแล้ว สถานที่จัดงานจะเป็นอุทยานที่สวยงามแห่งหนึ่งของพระนคร เพื่อเป็นรมยาณียสถานสำหรับประชาชน ได้เตร็ดเตร่หย่อนใจในยามว่าง

ทรงมอบหมายงานนี้ให้เจ้าพระยายมราช ซึ่งมีบ้านติดอยู่กับสวนลุมพินีเป็นแม่กองงาน

งานสร้างสวนลุมพินีดำเนินไปด้วยดี มีการขุดสระน้ำขนาดใหญ่ เอาดินขึ้นมาถมที่ มีเกาะลอยอยู่กลางน้ำ บนเกาะปลูกพันธุ์ไม้พื้นเมืองจากทุกภาคในประเทศ ร้านค้าราชการและเอกชนก็ใกล้เสร็จเรียบร้อย รวมทั้งการวางรางรถรางจากถนนเจริญกรุง เลียบคลองสีลมผ่านสวนลุมพินีมาสุดที่ประตูน้ำ เตรียมอำนวยความสะดวกในการเดินทางมางานให้ประชาชนอย่างเต็มที่

แต่แล้วก็เกิดเหตุพลิกผัน เมื่อวันที่ 25 พ.ย.2468 พระองค์ผู้ให้กำเนิดสวนลุมพินีเสด็จสวรรคต ความสลดห่อเหี่ยวในหัวใจประชาชน มีผลให้งานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์ ที่มีกำหนดเปิดในวันที่ 1 ม.ค.ปีต่อมา ต้องล่มสลายไปโดยไม่มีโอกาสเปิด

สิ่งปลูกสร้างสำหรับงานในสวนลุมพินีถูกรื้อถอน สวนถูกทิ้งร้างเป็นพงหญ้ารกเรื้อ 

พ.ศ.2472 พล.ต.ต.พระยาคธาธรณีสีหราชบาลเมือง (เทียบ อัศวรักษ์) อดีตจเรตำรวจ ข้าราชบริพารใกล้ชิด ได้ขอเช่าพื้นที่ 90 ไร่ จากกรมโยธาเทศบาล จัดทำเป็นสวนสนุก เริ่มตั้งแต่หัวค่ำไปจนดึก มีเครื่องเล่นต่างๆ ตั้งแต่ชิงช้าสวรรค์ ม้าหมุน  ลานสเกต  และบิงโก  ยิงเป้า  ตกเบ็ด ฯลฯ

ที่ทันสมัยมาก ก็คือการมีโรงละคร และโรงหนังกลางแปลงชนิดที่ขับรถเข้าไปจอดดูได้ มีโรงเต้นรำชื่อบลูฮอลล์ สั่งโชว์และนักดนตรีจากต่างประเทศเข้ามาแสดง บางวันก็มีการแข่งขันชกมวยและฟุตบอล สั่งทีมจากต่างประเทศเข้ามาแข่งกับทีมฟุตบอลไทย 

กิจกรรมทั้งหลายเหล่านี้ เข้าไปดูได้โดยเสียค่าผ่านประตูสวนสนุก 10 สตางค์ ค่าเข้าชมฟุตบอลอีก 25 สตางค์

สวนสนุกนี้เปิดอยู่ได้ไม่นาน กิจการก็ไม่ดี

จนล้มเลิกไป สวนลุมพินีถูกทิ้งร้างอีกครั้ง จนกลายเป็นพื้นที่ที่มีคนใช้ก่อเหตุฆาตกรรมบ่อยครั้ง พ.ศ.2478 ม.ล.กรี เดชาติวงศ์ นายช่างชั้น 1 กองช่างนคราธร ได้เข้ามาปรับปรุงให้เป็นสวนสาธารณะ 

นับแต่นั้น สวนลุมพินีก็เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวกรุง เป็นที่จัดงานระดับชาติ เช่น งานฉลองรัฐธรรมนูญ ประกวดนางสาวไทย มีเวทีลีลาศสำหรับจัดงานบอลล์ เปิดโอกาสให้ประชาชนซ้อมฝีเท้าสัปดาห์ละครั้ง เจ้าของเวทีลีลาศคือ ครูเอื้อ สุนทรสนาน หรือสุนทราภรณ์ 

ภายในสวนลุม เคยมีภัตตาคารจีนชื่อดัง สร้างเป็นรูปเรือกลางน้ำ ใกล้เกาะลอย มีสะพานเชื่อมกับฝั่ง แต่กระนั้นลูกค้าก็ยังอยากนั่งเรือ จึงมีบริการรับส่งทางเรือ ภัตตาคารนี้ชื่อภาษาฝรั่ง เพนนินซูลา แต่ชื่อภาษาไทยรู้จักกันดี ชื่อ กินรีนาวา ทางร้านทำเป็นรูปกินรีครึ่งตัวเชิดหน้าเป็นหัวเรือ

เหตุที่ทำให้ร้านกินรีนาวาโด่งดัง เพราะนางกินรีเชิดอกสองข้างเปลือยเปล่าเป็นจุดสะดุดตา หนังสือพิมพ์โจมตีว่าเป็นภัตตาคารจ้ำบ๊ะ เจ้าของ

ร้านต้องเอาผ้าบางมาคลุมสองเต้ากินรีเอาไว้ 

ระหว่างการโจมตี ก็มีข้อครหากินรีนาวา เป็นต้นเหตุทำให้น้ำในสระสวนลุมฯเน่า ส่งกลิ่นไปรบกวนคนไข้ถึง รพ.จุฬาฯ ต่อมาเกิดเพลิงไหม้จากห้องครัวลุกลามเผากินรีนาวาวอดวายไปทั้งลำ ภัตตาคารจ้ำบ๊ะ จึงกลายเป็นตำนานหน้าหนึ่งของสวนลุมพินี เสียงวิพากษ์วิจารณ์ก็จบลงไปโดยปริยาย.

ที่มา : คอลัมน์ คัมภีร์จากแผ่นดิน โดย...บาราย หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น