คำนำ

เพื่อน ๆ ที่รัก...เราชอบอ่านคอลัมน์ "คัมภีร์จากแผ่นดิน" ของบาราย ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐประจำวันอาทิตย์มาก ท่านจะเขียนเล่าประวัติศาสตร์ที่เราไม่เคยอ่านหรือเรียนมาก่อน เราชอบคอลัมน์ของท่านมาก อ่านแล้วได้ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ดีมากเลย ซึ่งไม่มีในหนังสือเีีรียนของพวกเราเลย เราจึงตัดคอลัมน์นี้ไว้ และไม่อยากให้สูญหาย และอยากจะเผยแพร่ให้เพื่อน ๆ ได้อ่าน จึงได้สร้างไว้ในบล๊อกของ google ซึ่งเป็นบล๊อกที่ให้พื้นที่ฟรี และจะทำไปเรื่อย ๆ เพื่อรักษาประวัติศาสตร์อันดีไว้จนกว่าโลกของไซเบอร์จะล่มสลาย...เชิญเพื่อน ๆ อ่านได้เลยค่ะ บล๊อกหนึ่งจะมี 20 เรื่อง...

230 ปี ศรีรัตนโกสินทร์

ตอนที่ 4 ภาคที่ 1 หนังสือ 230 ปีศรีรัตนโกสินทร์ มรดกความทรงจำกรุงเทพมหานคร ธิษณา วีรเกียรติสุนทร เรียบเรียง เรื่อง การจัดการกรุงเทพมหานครในอดีต ว่ามีการแบ่งเขตการดูแลเมืองพระนครคร่าวๆ ออกเป็นสามชั้น คือแขวงจังหวัดทั้งสี่ กรมวังดูแลเขตพระราชฐาน กรมนครบาลดูแลเขตพระนคร

กรมพระนครบาลดูแลคดีอุกฉกรรจ์ทั่วราชอาณาจักร ยังดูแลความสงบเรียบร้อยในราชธานี มีการแบ่งส่วนราชการ เป็นหน่วยงานกลางของกรม การตรวจตรา การจับกุมผู้ร้าย งานศาล งานคุก และงานเสมียนทั่วไป        

หน่วยงานกลางของกรมขึ้นตรงต่อออกญายมราช มีปลัดกรมสองคน ขุนเพชรปานี ปลัดทูลฉลอง ดูแลกรมที่เกี่ยวข้องงานศาล การตรวจสอบบัญชีนักโทษ และขุนเพชรดาราชเป็นปลัดผู้ช่วย ดูแลกรมกองตรวจตราผู้ร้าย รวมทั้งงานคุก  

ก่อนการปฏิรูประบบราชการในรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ผู้ดูแลกรมนี้คือขุนสพฦา ต่อ มายกฐานะเจ้ากรมเป็นเสนาบดีจตุสดมภ์ มียศ และราชทินนามว่า พระยายมราช.....   

กฎหมายลักษณะโจร ระบุคุณสมบัติพิเศษ ของเสนาบดีกรมพระนครบาลไว้ว่า ต้องอยู่ในศีล 5 ปฏิบัติหน้าที่สม่ำเสมอ อย่าใฝ่สูงเกินศักดิ์ จงรักภักดีต่อพระเจ้าแผ่นดิน   

หน้าที่ออกญายมราช รักษาประตูบ้านประตูเมือง ถนนหนทางและสถานที่ต่างๆ ดูแลราษฎรที่เป็นทุกข์จากผู้ร้าย จัดระเบียบผู้คนในยามที่พระเจ้าอยู่หัวเสด็จผ่าน ดูแลรักษาต้นไม้ รับผิดชอบแต่งสารตราไปเอาตัวโจรผู้ร้ายตามหัวเมือง   

งานตรวจตราและจับกุมผู้ร้าย ขุนเพชดาราช มีหน้าที่กำกับ แต่ผู้รับผิดชอบโดยตรง คือ หลวงอินทราบดีศรีราชรองเมือง เจ้ากรมกระเวนขวา และขุนเทพพลู (ขุนเทพผลู) เจ้ากรมกองกระเวนซ้าย

ในกองกระเวนแต่ละฝ่าย แบ่งขุนหมื่นออกเป็น ขุนหมื่นกระเวนตรวจตราในพระนคร กองละสี่คน และขุนหมื่นกระเวนตรวจตรานอกพระนคร อีกกองละสี่คน หากต้องไปจับโจรผู้ร้าย ขุนเพชดาราช ปลัด จะต้องออกไปพร้อมกองกระเวน

ยังมีขุนนาง หน่วยจู่โจมจับผู้ร้ายอีกสี่คน คือขุนทราบาล ขุนโลกบาล ขุนนระบาล และขุนธระนิบาล

หน่วยราชการในยุคก่อนๆ...จะไม่ปล่อยโอกาสให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดรับผิดชอบเรื่องหนึ่ง บางครั้ง ขุนงำเมืองว่าความในศาล สังกัดฝ่ายขุนเพชรปานีปลัดทูลฉลองก็จะออกไปลาดตระเวนจับผู้ร้ายกับบรรดาขุนหมื่นกองกระเวน       

ในยามบ้านเมืองมีโจรผู้ร้ายชุกชุม ขุนหมื่นกองกระเวนทั้งหลายต้องออกตรวจตราจับกุมผู้ร้ายทุกวัน หากเจ็บป่วยหรือลากิจ  ขุนหมื่นหรือเสมียนทนาย ต้องรับผิดชอบแทน หากทิ้งหน้าที่มีบทลงโทษให้จำคาเอาไว้หน้าพระเสื้อเมืองวันหนึ่ง      

หน้าที่การตรวจตราและจับกุมผู้ร้ายไม่ได้อยู่กับขุนหมื่นกองกระเวนเพียงลำพัง ในรัชกาลพระเจ้า อยู่หัวบรมโกษฐ์ทรงมีประกาศกำหนดให้นายบ้านและชาวเมืองช่วยสอดส่องดูแลชุมชนของตน

แลให้ชาวบ้านกองเพลิงหน้าบ้านหลังบ้าน ทำจำหล่อตามทางเดินจงทุกบ้าน แลครั้นเพลาค่ำ ให้ชาวบ้าน ซึ่งเป็นผู้ชายผลัดกันรักษากองเพลิงหน้าบ้านหลังบ้าน ตามมีคนมากแลน้อย ให้ผลัดกันคอยดูผู้คนเดินไปมา ถ้าหาไต้เพลิงเป็นสำคัญ มิได้ ให้จับเอาตัวจำไว้

ในรัชกาลนี้ ประชาชนต้องรับผิดชอบที่เกิดเหตุ ในระยะสามเส้นสิบห้าวา ต่อมาในรัชกาลที่ 3 ขยายขอบเขตเป็นห้าเส้น...หากใครวางเฉย เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ มีกำหนดบทลงโทษ 

จนถึง พ.ศ.2404 ในรัชกาลที่ 4 รับสั่งให้ตั้งกองโปลิศแบบยุโรป มีกัปตันเอมส์ (หลวงรัถยาภิบาล) เป็นหัวหน้าคนแรก ใช้พลโปลิศเป็นพวกมลายู อินเดีย ซึ่งเคยเป็นลูกเรือกัปตันเอมส์มาก่อน   

ต่อมาจึงว่าจ้างชาวสยามและคนที่เคยเป็นกองกระเวนในสิงคโปร์ อินเดีย เรียกว่า  กองโปลิศคอนสเตเบิล ชาวสยามเรียกว่า หมาต๋าหรือ ไอ้หัวแดงแข้งดำเหตุเพราะพลโปลิศ สวมหมวกมีจุกแดง และมีผ้าพันแข้งเป็นสีดำ เริ่มงานกระเวนแรกที่สำเพ็ง.

ที่มา : คัมภีร์จากแผ่นดิน โดย...บาราย หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น