คำนำ

เพื่อน ๆ ที่รัก...เราชอบอ่านคอลัมน์ "คัมภีร์จากแผ่นดิน" ของบาราย ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐประจำวันอาทิตย์มาก ท่านจะเขียนเล่าประวัติศาสตร์ที่เราไม่เคยอ่านหรือเรียนมาก่อน เราชอบคอลัมน์ของท่านมาก อ่านแล้วได้ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ดีมากเลย ซึ่งไม่มีในหนังสือเีีรียนของพวกเราเลย เราจึงตัดคอลัมน์นี้ไว้ และไม่อยากให้สูญหาย และอยากจะเผยแพร่ให้เพื่อน ๆ ได้อ่าน จึงได้สร้างไว้ในบล๊อกของ google ซึ่งเป็นบล๊อกที่ให้พื้นที่ฟรี และจะทำไปเรื่อย ๆ เพื่อรักษาประวัติศาสตร์อันดีไว้จนกว่าโลกของไซเบอร์จะล่มสลาย...เชิญเพื่อน ๆ อ่านได้เลยค่ะ บล๊อกหนึ่งจะมี 20 เรื่อง...

ปริศนานาม..สำเพ็ง


ใครที่ไปไหว้หลวงพ่อทองคำ หรือหลวงพ่อสุโขทัย ที่ชั้นบนสุดของพระวิหารหลังใหม่ วัดไตรมิตร ตอนนี้ ชั้นล่างๆลงมา มีนิทรรศการตำนานการหล่อพระ และเรื่องราวของตลาดเยาวราช... เกี่ยวข้องไปถึงผู้นำในตระกูลแซ่สำคัญ ให้ดูให้ความรู้เป็นของแถมก่อนกลับบ้าน

วัดไตรมิตร ชื่อเดิมคือวัดสามจีน ตั้งอยู่ ในย่านเยาวราช ซึ่งเดิมมีชื่อเรียกตามวัดว่า วัดสำเพ็ง สมัยก่อนเรียกว่า สามเพ็ง และย่านนี้ก็มีวัดสามปลื้ม หรือวัดจักรวรรดิ นับเป็นชื่อวัดที่ขึ้นต้นด้วยสาม รวมสามแห่ง

ในหนังสือเล่าเรื่องบางกอก เล่ม 2 ส.พลายน้อย เล่าว่า วัดสำเพ็งเป็นวัดโบราณ ในสมัยรัชกาลที่ 1 กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงสถาปนาอุทิศ ถวายสมเด็จพระชนกาธิบดี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าพระราชทานนามใหม่ว่าวัดปทุมคงคา

ชื่อสำเพ็ง ในยุคสมัยหนึ่ง ถูกใช้ในคำด่าว่า "อีสำเพ็ง" เหตุเพราะแถวนั้นขึ้นชื่อในทางมีโสเภณี ถึงขนาดรัฐบาลเคยกำหนดให้เป็นเขตโสเภณี สุนทรภู่เกิดในสมัยรัชกาลที่ 1 เติบโตในสมัยรัชกาลที่ 2 เคยเขียนถึงสำเพ็งไว้ในนิราศเมืองแกลงว่า

ถึงสำเพ็งเก๋งตั้งริมฝั่งน้ำ แพประจำยอดเรียงเคียงขนาน มีซุ้มซอกตรอกนางจ้างประจาน ยังสำราญร้องขับไม่หลับลง...

ส.พลายน้อยบอกว่า สุนทรภู่ถ้ารู้เรื่องสำเพ็ง คงจะเล่าไว้บ้างในนิราศ แต่ไม่เล่า กลับไปเล่าเรื่องโสเภณี แสดงว่า สำเพ็งขึ้นชื่อในการมีโสเภณีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2

ชื่อเสียงของผู้หญิงสำเพ็ง ยังลือเลื่องต่อมาถึงสมัยที่มีการตัดถนนเจริญกรุง ตรอกซอกแถวถนนเจริญกรุง มีซ่องโสเภณีมีชื่อเสียงติดปากคนหนุ่มสมัยนั้น นอกจากอำแดงแฟง และยายเต๊า แล้วก็ยังมียายอิ่มขาว 

มีชื่ออย่างนี้ แสดงว่า มีแม่เล้าชื่ออิ่มหลายคน แต่ยายอิ่มคนนี้ที่จะขาวกว่าคนอื่น

ยายอิ่มขาวร่ำรวยมาก ขนาดมีตึกใหญ่โตรโหฐานอยู่แถวศาลเจ้าเก่า นอกจากยายอิ่ม ก็มี ยายหม่อม ซึ่งเป็นคนสร้างวิวัฒนาการโสเภณีให้ก้าวหน้า ยายหม่อมหัดหญิงโสเภณีให้เล่นงิ้วเล่นลิเก 

แฟนงิ้วแฟนลิเกติดใจตัวแสดงตัวไหน อยากสนทนาความลับด้วย ก็จะต้องเสียค่า ปิดประตูให้แก่เจ้าของโรงตามระเบียบ

แนวความคิดนี้ ในสมัยต่อมาดัดแปลงเป็นเต้นระบำ อย่างที่เรียกกันว่า ระบำเก้าชั้น หรือระบำตาหรั่ง ระบำตาหรั่งขึ้นชื่อลือชามากในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง

ส่วนคำ "สำเพ็งเก๋ง" นั้น ไม่เพียงมีในนิราศ สุนทรภู่ ต.ว.ส.วัณณาโภ เขียนไว้ในหนังสือ นิเทศสาธกคำกลอนไว้ตอนหนึ่งว่า "อนึ่งสำเพ็งเก๋งเขามี ที่ถนน แต่ฝูงชนอาศัยความเอานามหญิง โสเภณีมี ประจำเป็นคำอิง แต่ความจริงนั้น "สำเพ็งเก๋ง" ยังมี"

ข้อควรพิเคราะห์ สำเพ็งเก๋ง คืออะไร เก๋งคือเรือนที่มีรูปหลังคาแบบศาลเจ้าจีน ชื่อสำเพ็งเก๋ง ก็คือชื่อของเก๋งแบบจีน

ส่วนคำว่า สำเพ็ง แปลว่าอะไร เคยมีผู้อธิบายว่า คำจีนแต้จิ๋ว มีคำว่าสามเผง แปลว่า ศานติทั้งสาม เมื่อถามต่อว่า ศานติทั้งสาม คืออะไร ก็ตอบกันไม่ได้ ส.พลายน้อยเข้าใจว่า น่าจะเป็นการแปลชนิดลากเข้าหาความเสียมากกว่า

เมื่อยังหาที่มาของคำ "สำเพ็ง" หรือ "สามเพ็ง" ยังไม่ได้ ส.พลายน้อยขอตั้งเป็นข้อสันนิษฐาน แถวสำเพ็งในสมัยก่อนนั้น น่าจะเป็นทาง "สามแพร่ง" 

ทางสามแพร่ง คนโบราณถือกันว่าเป็นที่เปลี่ยว เวลาจะทำบัตรพลีบวงสรวงอะไร เขาก็มักจะเอาเครื่องบัตรพลี หรือเครื่องเสียเคราะห์ เสียกบาล ไปแขวนไว้บนต้นไม้ หรือวางไว้แถวทางสามแพร่ง

ฟังๆดู ทางสามแพร่งไม่ค่อยเป็นมงคลเท่าใดนัก ดูมีเค้าลางของความตายเคลือบอยู่ด้วย

ส.พลายน้อยบอกว่า ที่วัดสำเพ็งในสมัยสร้างกรุงเทพฯ ใช้เป็นที่ประหารนักโทษที่เป็นเจ้านาย หากประหารผู้ร้ายชาวบ้านธรรมดา ก็จะประหารกันที่วัดโคกหรือวัดพลับพลาชัย 

เมื่อมีงานพระบรมศพ เมื่อเก็บพระบรมอัฐิ แล้วก็เชิญพระอังคารลงเรือบุษบก หรือศรี ตั้งกระบวนแห่มีกลองชนะ ไปลอยอังคารที่วัดสำเพ็ง

ช้างเผือกล้มก็ทำเช่นเดียวกัน เขาจะเอาผ้าขาวห่อช้างที่ตาย มีเรือดั้งเรือกัน แห่เอาไปถ่วงที่หน้าวัดสำเพ็ง

พิจารณาตามเค้าเดิมนี้ ส.พลายน้อย บอกว่า น่าคิดว่า บริเวณนั้น หน้าวัดแต่ก่อนคงจะเป็นที่น้ำลึก ส่วนบนบกก็น่าจะเป็นทางสามแพร่ง คำสามแพร่งชาวจีน อาจเรียกเพี้ยนเป็น สำแพง และสำเพ็งไปก็ได้

ข้อสันนิษฐานนี้ ขุนวิจิตรมาตราแย้งว่า สำเพ็งไม่น่าจะมาจากคำว่า สามแพร่ง แต่น่าจะมาจากคำว่า "สามปลื้ม" มากกว่า ลิ้นคนจีนพูดคำสามปลื้มไม่ชัด จึงเพี้ยนมา เป็น "สำเพ็ง"

ส.พลายน้อยปลงทิ้งท้าย...คิดๆดูก็แปลก ชั่วเวลา 200 ปี ไม่มีใครรู้ความหมายของคำว่า "สำเพ็ง" ว่ามาจากอะไรเสียแล้ว.

ที่มา : คอลัมน์ คัมภีร์จากแผ่นดิน โดย...บาราย หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น