คำนำ

เพื่อน ๆ ที่รัก...เราชอบอ่านคอลัมน์ "คัมภีร์จากแผ่นดิน" ของบาราย ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐประจำวันอาทิตย์มาก ท่านจะเขียนเล่าประวัติศาสตร์ที่เราไม่เคยอ่านหรือเรียนมาก่อน เราชอบคอลัมน์ของท่านมาก อ่านแล้วได้ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ดีมากเลย ซึ่งไม่มีในหนังสือเีีรียนของพวกเราเลย เราจึงตัดคอลัมน์นี้ไว้ และไม่อยากให้สูญหาย และอยากจะเผยแพร่ให้เพื่อน ๆ ได้อ่าน จึงได้สร้างไว้ในบล๊อกของ google ซึ่งเป็นบล๊อกที่ให้พื้นที่ฟรี และจะทำไปเรื่อย ๆ เพื่อรักษาประวัติศาสตร์อันดีไว้จนกว่าโลกของไซเบอร์จะล่มสลาย...เชิญเพื่อน ๆ อ่านได้เลยค่ะ บล๊อกหนึ่งจะมี 20 เรื่อง...

กรุงเทพฯ กรุงธนฯ


กรุงเทพฯ กรุงธนฯ            

นังสือชื่อ...กรุงเทพฯ กรุงธนฯ มีภูมิสถาน ชื่อบ้านนามเมือง รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล และประภัสสร์ ชูวิเชียร ค้นคว้าเรียบเรียง (สำนักพิมพ์ดรีมแคชเชอร์) สุจิตต์ วงษ์เทศ เขียนไว้ใน คำให้การของบรรณาธิการบางช่วงบางตอน...ว่ากรุง...หมายถึงเมืองที่มีแม่น้ำลำคลองไหลผ่าน เป็นที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดิน มีรากจากคำมอญว่า กฺรุงฺ อ่านว่า เกฺริง แปลว่า แม่น้ำ ลำคลอง  

ร.4 ทรงมีพระบรมราชาธิบายเกี่ยวกับ กรุง เจ้ากรุง ว่าผู้ใดมีอำนาจเหนือพื้นน้ำ หรือเป็นเจ้าแห่งน้ำ ตั้งแต่ปากน้ำไปจนถึงที่สุดของแม่น้ำสายนั้น ผู้นั้นได้ชื่อว่า เป็นเจ้ากรุงและเมืองที่เจ้ากรุงพระองค์นั้นประทับอยู่ ก็เลยเรียกว่ากรุงสุจิตต์เขียนว่า ชุมชนเก่าแก่ที่สุดของกรุงเทพฯ กรุงธนฯ มีอยู่แล้วหลายแห่งตั้งแต่ก่อน พ.ศ.2000 หรือมากกว่า 500-600 ปีมาแล้ว        

โดยตั้งเป็นชุมชนอยู่ห่างๆ เป็นช่วงๆ ตามลำดับจากเหนือลงใต้ ตลอดสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาสายเก่า

เช่น บางเขน บางกรูด บางพลู ฉมังราย (ต่อมาเรียกกลายเป็น สมอราย) บางระมาด บางฉนัง 

(ปัจจุบันเรียกเพี้ยนเป็น บางเชือก-หนัง บางจาก บางนางนอง)              

บางกอก เป็นคำกร่อนมาจากคำเต็มว่า บางมะกอก หมายถึงชุมชนมีต้นมะกอกขึ้นหนาแน่นทั้งสองฝั่งคลอง เรียกคลองบางมะกอก ที่อาจเชื่อมแม่น้ำด้านเหนือและใต้ให้ทะลุถึงกันบริเวณที่เป็นโค้งน้ำรูปเกือกม้า โดยมีวัดมะกอกเป็นศูนย์กลางของชุมชน อยู่ปากคลองบางมะกอกที่เชื่อมแม่น้ำด้านใต้             

ต่อไปข้างหน้า วัดมะกอกเปลี่ยนชื่อเป็นวัดแจ้ง และวัดอรุณราชวราราม              

สุจิตต์บอกว่า ชื่อบางมะกอก บางทีจะเพี้ยนจากบางปะกอก ก็ได้ มีตัวอย่างชื่อย่านบางปะกอก อยู่ในเขตราษฎร์บูรณะ กทม. 

คลองบางมะกอก ถูกขุดขยายกลายเป็นแม่น้ำ (ตั้งแต่หน้า ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ถึงท่าเตียน) เมื่อราว พ.ศ.2085 แต่คนทั่วไปยังเรียกบางมะกอก แล้วกร่อนเหลือ บางกอก พ่อค้านานาประเทศ รู้จักคุ้นเคยชื่อบางกอกตั้งแต่ยุคอยุธยา       

เรียก Bangkok สืบมาถึงทุกวันนี้    

เมืองบางกอกมีขึ้นบริเวณที่เคยเป็นบางมะกอก แล้วเรียกทั่วไปว่าบางกอก เมื่อคลองบาง มะกอกกลายเป็นแม่น้ำสายใหม่ ทำให้แม่น้ำสายเก่ารูปโค้งเกือกม้าลดความสำคัญลงเป็นคลอง ชาวบ้านเรียกเป็น 2 ชื่อทางเหนือเรียก คลองบางกอกน้อย ทางใต้เรียก คลองบางกอกใหญ่ ปากคลองบางกอกใหญ่ บริเวณเชื่อมแม่น้ำสายใหม่ที่จะไหลลงทางใต้ไปออกอ่าวไทย เป็นโค้งแม่น้ำกว้างใหญ่ ชาวบ้านทั่วไปเรียก บางหลวงใกล้ปากคลองบางหลวง มีคลองด่าน แยกไปเชื่อมแม่น้ำท่าจีนทางตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคมสำคัญมานานแล้ว ทำให้บริเวณปากคลองบางกอกใหญ่ เป็นชุมทางคมนาคมหลายทิศทาง มีเรือแพนาวาสิบสองภาษานานาประเทศทั้งปวง มาจอดรอราชการจากอยุธยา และพักแรม     

จึงมีผู้คนหลากหลายเคลื่อนย้ายมาตั้งหลักแหล่งเนืองแน่น เป็นชุมชนเมือง เรียกทั่วไปว่า เมืองบางกอก

พระเจ้าแผ่นดินอยุธยา จึงโปรดให้มีเจ้าเมืองคอยควบคุมดูแล มีจวนเจ้าเมืองอยู่ปากคลองบางกอกใหญ่ (ต่อไปข้างหน้า จะเป็นพระราชวังกรุงธนบุรี)           

นานเข้า เมืองบางกอกก็ได้รับยกฐานะขึ้นเป็นเมืองธนบุรีศรีมหาสมุทร ในแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ (พ.ศ.2091-2111) จวนเจ้าเมืองธนบุรี เป็นบริเวณเดียวกับจวนเจ้าเมืองบางกอกมาแต่เดิม               

พระเจ้าตากสถาปนาเมืองธนบุรีที่มีมาก่อน ให้เป็นกรุงธนบุรี ราชธานีของสยาม เมื่อ พ.ศ.2310 แต่คนทั่วไปเรียกภายหลังอย่างสั้นๆว่า กรุงธน โดยใช้จวนเจ้าเมืองธนบุรีแต่เดิมเป็นพระราชวัง (ชั่วคราว)      

เมืองธนบุรีเป็นเมืองสองฝั่งน้ำ มีเมืองธนบุรีฝั่งตะวันตก กับเมืองธนบุรีฝั่งตะวันออก

ร. 1 สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อ พ.ศ.2325 แต่คนทั่วไปเรียกว่า กรุงเทพฯ บนที่เดิมของกรุงธนบุรี โดยมีพระราชวังตั้งอยู่บนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณที่เคยเป็นชุมชนพ่อค้าจีน เรียก บางจีน ซึ่งให้ย้ายไปอยู่ทางสำเพ็ง   

กรุงเทพฯ ตั้งอยู่บนพื้นที่ทับซ้อนเดียวกันกับกรุงธนฯ มีประจักษ์พยาน คือพระปรางค์วัดอรุณ เป็นมหาธาตุหลวงของกรุงรัตนโกสินทร์               

กรุงเทพเป็นจังหวัดพระนคร และกรุงธนเป็นจังหวัดธนบุรี ตามประกาศสมัย ร.6 ต่อมา เมื่อ พ.ศ.2514 ยกเลิกจังหวัดพระนคร และจังหวัดธนบุรี รวมเป็น นครหลวงกรุงเทพธนบุรี พ.ศ.2515 ยกเลิกนครหลวงกรุงเทพธนบุรี เป็นกรุงเทพมหานคร 

จบคำให้การของบรรณาธิการ ก็จึงเข้าถึงเนื้อหา ภูมิสถาน ชื่อบ้านนามเมือง ซึ่งก็คือชื่อ เขตต่างๆในกรุงเทพฯ ปัจจุบัน          

ทั้งรุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล (ทายาท น.นพรัตน์ ผู้พี่ผู้ล่วงลับ อานนท์ ภิรมย์อนุกูล) และ ประภัสสร์ ชูวิเชียร ผู้เรียบเรียง ทั้งสองคนภูมิรู้พื้นฐานจากศิลปากร ระดับปริญญาเอก ช่วยกันค้นคว้าได้เนื้อหาลุ่มลึก เติมสติปัญญาผู้อ่าน โดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ ให้รู้มากกว่าที่เคยรู้มาแล้ว                                  

กว่าจะเป็นชื่อ บางรัก บางซื่อ บางซ่อน บางเขน ล้วนแต่มีปริศนา ที่มา ถ้าไม่รู้เสียเลย น่าเสียดายที่เกิดมาเป็นคนเมืองกรุงฯ.


ที่มา : คอลัมน์ คัมภีร์จากแผ่นดิน โดย...บาราย หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น