คำนำ

เพื่อน ๆ ที่รัก...เราชอบอ่านคอลัมน์ "คัมภีร์จากแผ่นดิน" ของบาราย ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐประจำวันอาทิตย์มาก ท่านจะเขียนเล่าประวัติศาสตร์ที่เราไม่เคยอ่านหรือเรียนมาก่อน เราชอบคอลัมน์ของท่านมาก อ่านแล้วได้ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ดีมากเลย ซึ่งไม่มีในหนังสือเีีรียนของพวกเราเลย เราจึงตัดคอลัมน์นี้ไว้ และไม่อยากให้สูญหาย และอยากจะเผยแพร่ให้เพื่อน ๆ ได้อ่าน จึงได้สร้างไว้ในบล๊อกของ google ซึ่งเป็นบล๊อกที่ให้พื้นที่ฟรี และจะทำไปเรื่อย ๆ เพื่อรักษาประวัติศาสตร์อันดีไว้จนกว่าโลกของไซเบอร์จะล่มสลาย...เชิญเพื่อน ๆ อ่านได้เลยค่ะ บล๊อกหนึ่งจะมี 20 เรื่อง...

ธนบัตรใบแรกของโลก


ปกหนังสือชื่อ ต้นกำเนิด 100 สิ่งแรกของโลก ชื่อภาษาอังกฤษ THE GENIUS OF CHINA (สำนักพิมพ์มติชน โรเบิร์ต เทมเพิล เขียน ดร.พงศาล มีคุณสมบัติ แปล) มีคำเหมือนโฆษณายั่วใจว่า เชื่อหรือไม่! สิ่งประดิษฐ์ยิ่งใหญ่ ในทุกวันนี้ ล้วนมีรากฐานมาจากจีนโบราณ  

นักเลงหนังสือส่วนใหญ่ คงเคยอ่านกันมาบ้าง การเดินเรือสำรวจโลก เข็มทิศ กระดาษ เครื่องวัดแผ่นดินไหว ฯลฯ จีนค้นคิดและทำก่อนประเทศใดในโลก  

ในหนังจีนกำลังภายใน หลายเรื่องมีการใช้ตั๋ว เงินกระดาษ  และความจริงก็เป็นเช่นนั้น  จีนเริ่มใช้ เงินกระดาษมาตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 8 หรือต้นศตวรรษ ที่ 9 หรือเมื่อกว่าพันปีที่แล้ว        

ชื่อดั้งเดิมของเงินกระดาษ คือเงินปลิว มันเบามากจนถูกพัดปลิวหลุดมือได้ เงินกระดาษฉบับแรกคือตั๋วแลกเงิน มากกว่าจะเป็นเงินจริงๆ พ่อค้าฝากเงินสดของเขาไว้ที่เมืองหลวง แล้วรับกระดาษเอกสารรับรองเอาไปแลกเป็นเงินสดในมณฑลอื่นได้

กิจการนี้เริ่มโดยเอกชนในมณฑลซื่อชวนตอนใต้ รัฐบาลแต่งตั้งธุรกิจเอกชน 16 ราย (หรือธนาคาร) ให้ออกเอกสารแลกเปลี่ยน จนถึงปี 1023 รัฐบาลก็ดึงอำนาจคืนจากเอกชน ตั้งตัวแทนจากรัฐขึ้นมาออกธนบัตรหน่วยเงินต่างๆ  ที่มีเงินสดสำรองที่ฝากไว้รองรับ       

เราจึงอาจบันทึกได้ว่า ธนาคารของรัฐที่มีสกุล เงินสำรองแห่งแรกของโลก เกิดขึ้นในปี 1023          

เงินที่ออกโดยธนาคารนี้ มีข้อความพิมพ์อยู่ในธนบัตรว่า ใช้ได้เพียงสามปี จนถึงศตวรรษที่ 19 ในปี 1107  ธนบัตรเริ่มพิมพ์ด้วยแม่พิมพ์หลายอัน  มีสีไม่น้อยกว่าหกสี 

การออกเงินกระดาษโดยรัฐบาลเป็นเรื่องใหญ่      

ปี 1126 มีการออกเงินกระดาษจำนวนเจ็บสิบล้านเส้น (แต่ละเส้นเท่ากับเงินสด 1,000 เหรียญ) แต่เงินกระดาษเหล่านี้ไม่มีการรับรองด้วยมูลค่าสำรองใดๆ จึงเกิดสภาวะเงินเฟ้ออย่างรุนแรง

ปัญหาที่เกิดขึ้นตามมาคือการปลอมแปลง เงินกระดาษถูกกระตุ้นให้เกิดการปลอมแปลง เนื่องจากมูลค่าของมันไม่อยู่ที่เนื้อสสาร (เหมือนเงินเหรียญ) แต่อยู่ที่อำนาจที่ได้รับมอบหมาย      

ทางราชการต้องทำให้กระบวนการผลิตเงินกระดาษซับซ้อน จนไม่มีใครสามารถพิมพ์ออกมาได้เหมือน มีการรักษาความลับในการผลิตอันซับซ้อนไว้ ตั้งแต่ช่วงต้นที่มีเงินกระดาษ ซึ่งรวมการพิมพ์แบบหลายสี การใช้ ลวดลาย และส่วนผสมเฉพาะที่อยู่ในเยื่อกระดาษ         

วัสดุพื้นฐานที่ใช้ทำกระดาษ คือเปลือกต้นสา บางทีมีการผสมผ้าไหมลงไปด้วย  

ปี 1183 มีเรื่องเล่าถึงคดีปลอมแปลงธนบัตร ช่างแกะสลักแม่พิมพ์เอกคนหนึ่งใช้เวลาเพียงสิบวัน พิมพ์ธนบัตรปลอม 2,600 ใบ ในช่วงเวลาหกเดือนก่อน เมื่อถูกจับ เขามีโทษถึงประหารชีวิต         

เมื่อชาวมองโกลครองอำนาจในจีน มีการออกเงินกระดาษแปลกๆ ที่เรียกว่าธนบัตรผ้าไหม สิ่งที่สำรองในการออกเงินตราสกุลนี้ไม่ใช่โลหะมีค่า แต่เป็นมัดเส้นด้ายไหม เงินรุ่นเก่าต้องนำมาแลกเป็นธนบัตรผ้าไหม ปี 1294 มีการใช้ธนบัตรผ้าไหมของจีนไปไกลถึงเปอร์เซีย       

ปี 1375 สมัยราชวงศ์หมิง มีการออกธนบัตรใหม่ มีมูลค่าเดียวตลอดเวลาสองร้อยปี การกำหนดค่าแบบนี้ ไม่สะดวกต่อการค้าใดๆ แม้จะอนุญาตให้ใช้เหรียญทองแดง สำหรับใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ธนบัตรอันมีค่าเหล่านี้ค่อยๆเสื่อมมูลค่าจากสภาวะเงินเฟ้อ และถูกแทนที่ด้วยสินแร่เงิน       

หลังจากผลิตพลาดมาร่วมสองศตวรรษ ราชวงศ์หมิงพยายามนำเงินกระดาษกลับมาใช้ใหม่  แต่ วิธีการใช้ก็แย่มาก จนทำให้เกิดสภาวะเงินเฟ้อครั้งใหญ่  

ในที่สุดการใช้เงินกระดาษระดับชาติก็เสื่อมความนิยมลง จนกระทั่งมหาอำนาจยุโรป          

นำเงินกระดาษกลับมาใช้ใหม่  และใช้กันยั่งยืนมาถึงปัจจุบัน.

ที่มา : คอลัมน์ คัมภีร์จากแผ่นดิน โดย...บาราย หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น