คำนำ

เพื่อน ๆ ที่รัก...เราชอบอ่านคอลัมน์ "คัมภีร์จากแผ่นดิน" ของบาราย ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐประจำวันอาทิตย์มาก ท่านจะเขียนเล่าประวัติศาสตร์ที่เราไม่เคยอ่านหรือเรียนมาก่อน เราชอบคอลัมน์ของท่านมาก อ่านแล้วได้ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ดีมากเลย ซึ่งไม่มีในหนังสือเีีรียนของพวกเราเลย เราจึงตัดคอลัมน์นี้ไว้ และไม่อยากให้สูญหาย และอยากจะเผยแพร่ให้เพื่อน ๆ ได้อ่าน จึงได้สร้างไว้ในบล๊อกของ google ซึ่งเป็นบล๊อกที่ให้พื้นที่ฟรี และจะทำไปเรื่อย ๆ เพื่อรักษาประวัติศาสตร์อันดีไว้จนกว่าโลกของไซเบอร์จะล่มสลาย...เชิญเพื่อน ๆ อ่านได้เลยค่ะ บล๊อกหนึ่งจะมี 20 เรื่อง...

ความรู้เรื่อง...เมืองร้อยเอ็ด


โดยความเข้าใจกันมาแต่ดั้งเดิม เมืองร้อยเอ็ดเมืองโบราณ ซึ่งขณะนี้เป็นจังหวัดหนึ่งของประเทศไทย มีเมืองบริวารที่เป็นเมืองขึ้น หรือมีหนทาง หรือประตูเข้าสู่เมือง (หลวง) อยู่มากถึง 101 ประตู...แต่ความจริง...ไม่เป็นเช่นนั้น 

หนังสือ ปกิณกคดีประวัติศาสตร์ไทย เล่ม 2 (กรมศิลปากร พ.ศ.2554) พรรณนาไว้ว่า หลักฐานทางประวัติศาสตร์ ดินแดนประเทศไทยปัจจุบัน สมัยที่เรียกว่าอาณาจักรสุวรรณภูมิ แบ่งการปกครองเป็น อาณาเขต    
อาณาเขตยาง หรือโยนก อยู่ตอนเหนือ มีเมืองเงินยาง เป็นราชธานี  
อาณาเขตทวารวดีอยู่ตอนกลาง มีเมืองนครปฐมเป็นราชธานี
อาณาเขตโคตรบูร อยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีทั้งฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง และเมืองนครพนมเป็นราชธานี
ในสมัยนั้นชนชาติขอมหรือเขมรโบราณ มีอำนาจ ปกครองอาณาจักรนี้ ขอมได้นำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่อาณาเขตต่างๆ รวมทั้งพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งอยู่ในอาณาเขตโคตรบูร โดยมีหลักฐานดังต่อไปนี้      
เมืองเก่าอำเภอพนมไพร ปรากฏภูมิฐานที่ตั้งเมืองเก่าคือคูเมือง มีลักษณะเป็นสระรอบๆ กำแพงเมืองเป็นเนินดินสูง ตอนกลางมีสระโชติ (สระขี้ลิง) รอบสระโชติเป็นเนินสูงมีแผ่นหินรูปเสมาจมอยู่ในดิน แผ่นเสมาศิลปะขอม สันนิษฐานว่าขอมเป็นผู้สร้าง แต่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์
กู่กาสิงห์ โบราณสถานอำเภอเกษตรวิสัย เป็นปรางค์กู่ก่อสร้างด้วยศิลาแลงรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีประตูเข้าออกเป็นสี่ด้าน ภายในมีศิลาแลงวางทับกันเป็นชั้นๆ ด้านตะวันออกเป็นบันไดศิลาแลง เชิงบันไดมีหินแกะสลักรูปสิงโต
สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยเดียวกับปราสาทหินพิมาย        
กู่คันธนาม โบราณสถานอำเภอโพนทราย สร้างด้วยศิลาแลงวางซ้อนกัน เป็นรูปลักษณะเหมือนปราสาทหินพิมาย แต่มีขนาดเล็กกว่า ด้านในมีเทวรูปสร้างในสมัยขอม
เมืองร้อยเอ็ด มีชื่อเรียกขานอีกชื่อว่า เมืองสาเกต ตำนานอุรังคธาตุ กล่าวว่า บริเวณที่ตั้งเมืองร้อยเอ็ด เดิมเป็นเมืองใหญ่ แห่งอาณาจักรกุลุนทะ มีพระเจ้ากุลุนทะเป็นกษัตริย์ มีกษัตริย์ปกครองสืบๆกันมา จนถึงสมัยพระยาศรีอมรนี มีโอรสนามสุริยกุมาร อายุ 16 ปี พระโอรสองค์นี้มีฝีมือรบเก่งกาจ รวบรวมเมืองต่างๆ เข้ามาอยู่ในอำนาจได้ 11 หัวเมือง         
1. เมืองเชียงเหียน (ปัจจุบันคือบ้านเชียงเหียน อ.เมือง จ.มหาสารคาม) 2. เมืองฟ้าแดด (ปัจจุบัน เมืองฟ้าแดดสูงยาง อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์) 3.เมืองสีแก้ว (บ้านสีแก้ว อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด) 4. เมืองเปือย (บ้านเมืองเปือย อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด) 5. เมืองทอง (บ้านเมืองทอง อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด) 6. เมืองหงส์ (บ้านเมืองหงส์ อ.จตุรพักตรพิมาน จ.ร้อยเอ็ด)  
7. เมืองบัว (บ้านเมืองบัว อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด) 8. เมืองคอง (ปัจจุบันอยู่บริเวณ อ.เมืองสรวง และ อ.สุวรรณภูมิ)9.เมืองเชียงขวง (ปัจจุบัน คือบ้านจาน อ.ธวัชบุรี จ.ร้อยเอ็ด) 10.เมืองเชียงดี (ปัจจุบัน บ้านโนนหัว อ.ธวัชบุรี จ.ร้อยเอ็ด) และ 11.เมืองไพ (ปัจจุบันบ้านเมืองไพร อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด)     
การได้เมืองเข้ามาอยู่ในอำนาจ 11 เมือง จึงเป็นที่มาของทางเข้าและประตูเข้าสู่เมืองหลวงถึง 11 ประตู        
สมัยโบราณ นิยมเขียน 11 เป็น 10–1 คือ สิบ กับหนึ่ง     
คนสมัยต่อมา เห็นตัวเลขว่า 101 จึงเรียกตามตัวเลขว่า ร้อยเอ็ด จึงมีผู้สันนิษฐานว่า เป็นที่มาของชื่อเมือง ร้อยเอ็ด
นอกจากมีประตูเข้าสู่ตัวเมืองถึง 11 ประตูแล้ว เมืองร้อยเอ็ดยังมีรหัส การส่งสัญญาณรักษาความปลอดภัยของบ้านเมือง ด้วยการใช้ปี่ซาววา  
ซึ่งมีเสียงก้องไกล ส่งสัญญาณแจ้งเหตุร้าย-ดี ไปถึงเมืองร้อยเอ็ดให้รู้ได้ทันที สามารถเตรียมกำลังป้องกันเมืองได้ทันควัน
กล่าวกันว่าเมืองร้อยเอ็ดเป็นเมืองที่จัด ระบบการปกครองแตกต่างจากเมืองอื่น ในสมัยโบราณจึงถูกนับเป็นเมืองมหาอำนาจได้เมืองหนึ่ง.

ที่มา : คัมภีร์จากแผ่นดิน  โดย...บาราย  หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

1 ความคิดเห็น:

  1. เมืองเชียงดี บ้านหัวโนนนะครับ ไม่ใช่บ้านโนนหัว

    ตอบลบ